ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด คือภาวะที่มดลูกมีการหดรัดตัวสม่ำเสมอ ส่งผลให้ปากมดลูกเปิดและคลอดหลังสัปดาห์ที่ 20 และก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์
ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดอาจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนด ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของทารกเนื่องจากการพัฒนาของอวัยวะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทารกที่คลอดก่อนกําหนดจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิด
สาเหตุของภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดนั้นยังไม่แน่ชัด โดยภาวะดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์ได้ทุกคน
อาการ
- การหดรัดตัวของมดลูกอย่างสม่ำเสมอหรือบ่อย ๆ
- ปวดหลังล่างเป็นประจำ
- รู้สึกปวดถ่วงบริเวณเชิงกรานหรือท้องน้อย
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- ภาวะถุงน้ำคร่ำรั่วก่อนกำหนด
- ลักษณะของตกขาวที่เปลี่ยนไป
ควรไปพบแพทย์เมื่อไร
หากมีอาการดังกล่าวหรือเกิดความกังวลใจ ควรไปพบแพทย์ทันที ไม่ต้องอายหากอาการดังกล่าวกลายเป็นเพียงอาการเจ็บท้องหลอก
ปัจจัยเสี่ยง
- อายุมารดาตอนตั้งครรภ์ เช่น อายุน้อยหรือมากเกินไป
- ระยะห่างระหว่างการตั้งครรภ์ครั้งก่อนน้อยกว่า 6 เดือนหรือมากกว่า 59 เดือน
- เคยมีภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดมาก่อน
- ตั้งครรภ์ลูกแฝด
- ภาวะปากมดลูกสั้น
- ภาวะน้ำคร่ำมาก
- มีปัญหาเรื่องมดลูกเช่นมีเนื้องอก หรือรกเกาะต่ำ มีเลือดออก
- การติดเชื้อที่น้ำคร่ำหรืออวัยวะสืบพันธุ์
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคภูมิแพ้ตัวเอง หรือภาวะซึมเศร้า
- ผ่านเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อร่างกายหรือจิตใจ เช่น การเสียชีวิตของบุคคลอันเป็นที่รัก
- การสูบบุหรี่หรือใช้สารเสพติด
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดอาจนำไปสู่การคลอดทารกคลอดก่อนกําหนด ซึ่งส่งผลให้ทารกมีปัญหาด้านสุขภาพเนื่องจากอวัยวะต่าง ๆ ยังไม่พัฒนาเต็มที่ ทารกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ อาจมีปัญหาเรื่องระบบการหายใจ ปัญหาด้านสายตาและการมองเห็น ทารกที่เกิดก่อนกําหนดยังมีความเสี่ยงต่อภาวะสมองพิการและปัญหาทางด้านการเรียนรู้และพฤติกรรม
การป้องกัน
ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดไม่สามารถป้องกันได้ แต่การดูแลสุขภาพคุณแม่ตั้งครรภ์ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพครรภ์ให้แข็งแรง
- พบสูตินรีแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ปรึกษาแพทย์หากมีอาการที่ทำให้กังวลใจ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดหรือสูบบุหรี่
- หากมีโรคประจำตัว ควรแจ้งแพทย์และดูแลควบคุมอาการของโรค
- หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ที่เว้นระยะห่างระหว่างตั้งครรภ์น้อยกว่า 6 เดือนหรือมากกว่า 59 เดือน
- ดูแลควบคุมโรคประจำตัวหากมี
การตรวจวินิจฉัย
แพทย์จะทำการซักประวัติ รวมถึงพิจารณาปัจจัยเสี่ยงของภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
- การตรวจภายใน แพทย์จะทำการตรวจความแข็งแรงของมดลูก รวมถึงขนาดและตำแหน่งของทารกในครรภ์ หากไม่มีอาการน้ำเดินหรือรกเกาะต่ำ แพทย์อาจทำการวัดขนาดปากมดลูก พร้อมทั้งตรวจดูว่ามีภาวะเลือดออกจากโพรงมดลูกหรือไม่
- การอัลตราซาวนด์ช่องคลอด แพทย์อาจทำการอัลตราซาวนด์ช่องคลอดเพื่อวัดความยาวของปากมดลูก ตรวจดูตำแหน่งและคะเนน้ำหนักของทารก รวมถึงปริมาณน้ำคร่ำ
- การตรวจในห้องปฏิบัติการ แพทย์อาจสั่งให้เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากช่องคลอดเพื่อตรวจหาการติดเชื้อและสารฟีทอลไฟโบรเน็กทิน (fetal fibronectin) ซึ่งทําหน้าที่คล้ายกาวยึดเยื่อหุ้มทารกกับผนังมดลูกซึ่งจะหลุดลอกออกมาเมื่อกำลังจะมีการคลอด
การรักษา
ไม่มียาหรือการรักษาใด ๆ ที่สามารถหยุดการคลอดได้ แต่แพทย์อาจจ่ายยาเพื่อช่วยอาการดังต่อไปนี้
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ช่วยเร่งการเจริญของปอดของทารก แพทย์อาจให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 23-34 สัปดาห์ที่มีความเสี่ยงที่จะคลอดบุตรภายใน 1-7 วันข้างหน้า หรือมีความเสี่ยงที่จะคลอดบุตรระหว่างที่มีอายุครรภ์ 34-37 สัปดาห์
- แมกนีเซียมซัลเฟตอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดความพิการทางสมองของทารกได้ โดยเฉพาะในทารกที่เกิดก่อนอายุครรภ์จะครบ 32 สัปดาห์
- ยาโทโคไลติกส์หรือยายับยั้งไม่ให้มดลูกหดรัดตัว ช่วยชะลอการหดรัดตัวของมดลูกออกไปอย่างน้อย 48 ชั่วโมง เพื่อให้ปอดของทารกในครรภ์ได้รับการกระตุ้นจากยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ผ่านทางมารดา อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้ใช้ยาโทโคไลติกส์หากมีอาการภาวะความดันโลหิตสูงเนื่องจากการตั้งครรภ์
การผ่าตัด
หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดเนื่องจากคอมดลูกสั้น โดยเฉพาะในรายที่อายุครรภ์น้อยกว่า 24 สัปดาห์ มีประวัติคลอดก่อนกำหนด หรือปากมดลูกเปิด หรือคอมดลูกสั้นกว่า 25 มิลลิเมตร แพทย์อาจทำการเย็บผูกปากมดลูก โดยแพทย์จะตัดไหมออกเมื่ออายุครรภ์ครบ 36 สัปดาห์หรือเร็วกว่านั้นหากจำเป็น
การใช้ยา
ในรายที่มีประวัติการคลอดบุตรก่อนกำหนด แพทย์อาจให้การรักษาโดยการให้ยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ในรูปแบบยาฉีดที่เรียกกันว่า ไฮดรอกซีโปรเจสเตอโรน คาโปรเอต ในช่วงไตรมาสที่ 2 จนไปถึงสัปดาห์ที่ 37 แพทย์อาจให้ยาฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนแบบสอดทางช่องคลอดในรายที่พบว่าคอมดลูกสั้นตั้งแต่ก่อนสัปดาห์ที่ 24 โดยการใช้ยาฮอร์โมนโปรเจสโตรโรนทางช่องคลอดได้ผลดีเทียบเท่ากับการ เย็บผูกปากมดลูก
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน
อาการท้องแข็งเนื่องจากมดลูกหดรัดตัวหรือการเจ็บครรภ์หลอกเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ หากเริ่มมีอาการที่น่าสงสัย คุณแม่ตั้งครรภ์อาจลองเดิน นอนพัก หรือเปลี่ยนท่าทาง เพื่อดูว่าอาการหายไปหรือไม่ หากอาการหดรัดตัวของมดลูกไม่บรรเทาลง นั่นอาจเป็นสัญญาณของภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
การพักรักษาอยู่บนเตียง (Bed rest) ในครรภ์ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ไม่ช่วยลดความเสี่ยงของภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด และอาจทำให้กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และรู้สึกหดหู่
การเตรียมตัวก่อนพบแพทย์
- พาสามี คนในครอบครัว หรือเพื่อนไปด้วยเพื่อช่วยจดจำคำแนะนำของแพทย์
- จดคําถามที่ต้องการถามแพทย์
ตัวอย่างคำถามที่ผู้ป่วยอาจจะอยากถามแพทย์
- อาการที่เป็นคืออาการเจ็บท้องคลอดใช่หรือไม่
- มีความเสี่ยงที่จะคลอดบุตรก่อนกำหนดหรือไม่
- มีกิจกรรมอะไรที่ควรทำหรือควรงดเพื่อให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปได้จนครบกำหนด
- อาการเช่นไรที่ควรมาพบแพทย์โดยทันที
คำถามที่แพทย์อาจถาม
- เริ่มมีอาการเหล่านี้เมื่อไร
- มดลูกบีบตัวกี่ครั้งในระยะเวลา 1 ชั่วโมง
- มีเลือดออกทางช่องคลอดหรือไม่
- มีไข้ หรือสัมผัสผู้ป่วยติดเชื้อบ้างหรือไม่
- มีประวัติตั้งครรภ์ล่าสุดเมื่อไร เคยแท้งบุตรหรือได้รับการผ่าตัดมดลูกบ้างหรือไม่
- สูบบุหรี่หรือไม่
- บ้านอยู่ไกลจากโรงพยาบาลหรือไม่ ใช้เวลาเดินทางนานเท่าไร
ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนดนั้นเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ควรพูดคุย ปรึกษาแพทย์จนเข้าใจผลการตรวจวินิจฉัยและวิธีดูแลตนเองเพื่อรักษาสุขภาพของบุตรในครรภ์
บทความโดย
นพ.วรชัย ชื่นชมพูนุท
สูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
|